ประเภท

ประเภทของกระบี่กระบอง
        เครื่องกระบี่กระบอง หมายถึง อาวุธต่างๆ รวมทั้งเครื่องป้องกันที่จำลองมาจากศาสตราวุธของไทยในสมัยโบราณ และของจริงที่นำมาใช้ในการเล่นกระบี่กระบอง  ได้แก่  กระบี่  ดาบ  กั้นหยั่น  หอก  ทวน  ง้าว  โตมร  แหลน  หลาว  ตะบอง  พลอง  มีด และ กริช   ส่วนเครื่องป้องกันอาวุธ ได้แก่ โล่  เขน และ ดั้ง
                สำหรับเครื่องกระบี่กระบองที่จำลองมาจากของจริงมี กระบี่  ดาบ  ง้าว และ พลองเท่านั้น  ส่วนเครื่องป้องกันอาวุธ ได้แก่ โล่  เขน และ ดั้ง มักจะเอาของจริงมาใช้ในการเล่นเลย  เครื่องกระบี่กระบองดังกล่าวนี้ นักกระบี่กระบองมักเรียกว่า เครื่องไม้”  ซึ่งเครื่องกระบี่กระบองนั้น มีอยู่ 2 ประเภทคือ เครื่องไม้รำ และ เครื่องไม้ตี


               ๓.๑ เครื่องไม้รำ  เครื่องไม้รำ ได้แก่ เครื่องกระบี่กระบองที่จำลองจากอาวุธจริงแต่ไม่ค่อยจะเหมือนทีเดียวเพราะมุ่งไปในแง่ความสวยงามมากกว่าอย่างอื่น  หากเครื่องไม้รำงดงามด้วยแล้วยิ่งเพิ่มความสวยงามของท่ารำด้วย  แต่ถ้าไม่สามารถสร้างเครื่องไม้รำใช้แทนอาวุธบางชนิดได้ ก็มักจะนำเอาอาวุธจริงมาใช้รำแทน ซึ่งก็นับว่างดงามและเหมาะสมดีไม่น้อย
               ๓.๒เครื่องไม้ตี  เครื่องไม้ตี ได้แก่ เครื่องกระบี่กระบองที่จำลองมาจากอาวุธจริง  ความมุ่งหมายของการสร้างเครื่องไม้ตีก็คือต้องการให้เบา เหนียว และแข็งแรงทนทาน จึงนิยมทำด้วยไม้หวายซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าว
                อาวุธแท้และอาวุธจำลองทุกชนิด ที่ใช้ในการเล่นกระบี่กระบองนั้น มี ๓ลักษณะ คือ
ลักษณะที่เป็นอาวุธแท้
ลักษณะที่จำลองมาเป็นเครื่องไม้รำ
1.       ลักษณะที่จำลองมาเป็นเครื่องไม้ตี
                สำหรับกระบี่กระบองที่เรียนในชั้นเรียน จะเรียนเกี่ยวกับอาวุธกระบี่  จึงขอกล่าวถึงแต่เฉพาะอาวุธกระบี่เท่านั้น

กระบี่จริง
                กระบี่ เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ใช้ฟันและแทง ฉะนั้นตัวกระบี่จึงทำด้วยเหล็กเนื้อดี มีรูปแบน ตรง ปลายแหลม  ยาวประมาณ 90 เซนติเมตร มีน้ำหนักไม่มากนัก พอเหมาะสำหรับถือมือเดียว และใช้ฟันแทงได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว  ซึ่งมีส่วนประกอบดังนี้
1.       ตัวกระบี่
2.       ด้ามกระบี่
3.       โกร่งกระบี่
4.       ฝักกระบี่

 ลักษณะส่วนประกอบต่างๆ ของกระบี่จริง
                ตัวกระบี่        จะทำด้วยเหล็กอย่างดี มีรูปแบนยาว ตรงปลายแหลม ยาวประมาณ 90 เซนติเมตร น้ำหนักส่วนใหญ่จะอยู่ที่ด้ามเพื่อให้ส่วนตรงกลางและปลายมีน้ำหนักน้อย  ดังนั้นในส่วนระหว่างคมและสันจึงทำเป็นร่องยาวตามแนวยาวของกระบี่ ริมร่องตนบนจะทำนูนขึ้นเป็นสัน  ตอนท้ายของตัวกระบี่จะบากเนื้อเหล็กให้เรียวเล็กลงเพื่อทำกั่นสำหรับติดกับด้าม
                ด้ามกระบี่      จะสวมติดกับกั่นของกระบี่อย่างแน่นหนา ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร โตพอมือจับได้อย่างถนัดและมั่นคง
                โกร่งกระบี่     มีรูปร่างคล้ายตะกร้อสอยผลไม้  ทำด้วยแผ่นเหล็กโปร่ง ติดแน่นอยู่กับหัวและท้ายของด้ามกระบี่ มีไว้สำหรับป้องกันมิให้คู่ต่อสู้ฟันถูกมือผู้ถือกระบี่นั้น
                ฝักกระบี่        มีลักษณะเป็นปลอกสำหรับสวมกระบี่เอาไว้เมื่อยังไม่ถึงคราวที่จะใช้กระบี่นั้น มีรูปร่างลักษณะคล้ายตัวกระบี่ ทำด้วยโลหะ หนัง หรือไม้ก็ได้  ข้างในฝุกม่หนังอ่อนหรือสักหลาดเพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างตัวกระบี่กับฝักกระบี่

กระบี่รำ
                กระบี่รำ มีรูปร่างลักษณะเหมือนกับกระบี่จริง ยาวประมาณ 1 เมตร โดยมากตัวกระบี่ทำด้วยหวายเทศ ขนาดใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย  ส่วนปลายเล็กเรียวและถักด้วยเชือกเส้นเล็กๆ โดยรอบ  แล้วลงรักปิดทอง  ด้ามถักและหุ้มด้วยกำมะหยี่  โกร่งทำด้วยหนังทึบทั้งแผ่น ลงรักปิดทองเขียนลายไทย เช่น ลายเทพนม หรือลายรดน้ำ  กระบี่รำบางทีอาจทำด้วยไม้และประดับด้วยกระจกเงาชิ้นเล็กๆ ลงไปเป็นลวดลายตลอดอัน



กระบี่ตี
                กระบี่ตี มีลักษณะเช่นเดียวกับกระบี่รำทุกประการ  ส่วนตอนด้ามถักด้วยด้ายและลงรัก ตัวกระบี่มักทำด้วยหวายเทศซึ่งมีคุณลักษณะเบาและเหนียวทนทานดี  แต่บางครั้งอาจใช้หวายโป่งแทนก็ได้   เพื่อให้กีฬาชนิดนี้สนุกสนานและเผ็ดร้อนยิ่งขึ้น คณะกระบี่กระบองหลายคณะได้จัดทำกระบี่ตีขึ้นมาเป็นพิเศษ คือ ตัวด้ามและโกร่งยังคงเป็นรูปเดิม แต่ส่วนปลายของตัวกระบี่จะต่อด้วยหนังควายซึ่งควั่นเป็นเกลียว ถักหุ้มด้วยเชือกเส้นเล็กๆ แล้วลงรักทับ ปลายกระบี่นี้จะโอนอ่อนไปมาดุจแส้  การที่ทำให้ปลายอ่อนเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการฝึกหัดให้นักกระบี่กระบองรู้จักอดทนต่อความเจ็บปวดเป็นอย่างดี เพราะเหตุว่าผู้เล่นกระบี่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดไม่ได้เลย  ถึงแม้ระรับการตีของอีกฝ่ายหนึ่งได้ดีสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่วายที่จะเจ็บตัว คือ ถ้าผู้รับรับลึกไปถูกตรงตัวหวายเข้า ปลายแส้ก็จะตวัดไปถูกตัว แต่ถ้ารับตรงปลายแส้ ก็จะรับไว้ไม่อยู่ หลุดเลื่อนไปโดนหัวจนได้ ฉะนั้นเมื่อเลิกเล่นแล้ว ย่อมได้แนวคนละหลายๆ แนวเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น